วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

ไร่นาสวนผสมเศรษฐกิจพอเพียง

ไร่นาสวนผสมเศรษฐกิจพอเพียง
การทำไร่นาสวนผสม หรือเกษตรผสมผสาน ก็เพื่อจะให้เกษตรกรมีการพัฒนาตนเอง แบบเศรษฐกิจพอเพียง คือการให้เกษตรกรมีความสามารถในการจัดการ และจัดสรรพื้นที่ทำกินของตนเองรวมทั้ง แหล่งน้ำ ทุน แรงงาน และมีการสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และความต้องการของเกษตรกรเป็นหลัก เพื่อให้พออยู่พอกินในครอบครัว ผลผลิตที่เหลือจึงมีการจำหน่าย ก่อให้เกิดรายได้ต่อเนื่อง เป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายปี มีผลทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้


วัตถุประสงค์ของการทำไร่นาสวนผสม
1. เพื่อการเพิ่มรายได้ต่อครัวเรือนของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง จากกิจกรรมปลูกพืชหลายครั้ง หลายชนิด หรือการผสมผสานกิจกรรมทั้งพืชทั้งสัตว์ ประมง เป็นต้น
2. เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ด้านการจัดการทรัพยากรที่ดิน ทุน แรงงาน อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
3. เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง ในการดำเนินกิจกรรมการเกษตรจากภัยธรรมชาติ และความผันผวนของราคาผลผลิต ทำให้เกษตรกรสามารถเลือกกิจกรรมการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
4.เพื่อการส่งเสริมให้เกษตรกรประกอบอาชีพตามหลักวิชาการเกษตรแผนใหม่ ทั้งด้านการผลิต และการจำหน่าย โดยการยึดหลักการปรับปรุงคุณภาพผลผลิต มีการลดต้นทุนการผลิต/หน่วย มีรายได้ต่อเนื่อง และมีกำไรสูงสุด
5. เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกร รู้จักการวางแผน และงบประมาณการผลิต รวมทั้งมีการจดบันทักบัญชีครัวเรือน รายรับรายจ่าย เป็นต้น
ทำไมเราต้องมีการทำไร่นาสวนผสม
- เป็นการเพิ่มรายได้ ก่อให้เกิดรายได้ในครัวเรือน เงินรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี อย่างยั่งยืนยาวนานมั่งคง
- เป็นการลดต้นทุนการซื้อปัจจัยการผลิตจากภายนอก หันมาพึ่งพาอาศัยทรัพยากรในไร่นาที่มีอยู่ในไร่นาตนเองมากขึ้น
- การทำกิจกรรมหลากหลายในไร่นา เป็นการเพิ่มรายได้ สามารถใช้สอยได้ทันที มีอาหารไว้บริโภคภายในครัวเรือน
- เป็นการลดความเสี่ยงในการลงทุน จากภาวะในเรื่องราคา ตลาดที่แปรปรวน รวมทั้งภัยธรรมชาติ สิ่งที่ไม่อาจคาดคิด
- เป็นการสร้างความสมดุลย์ทางธรรมชาติในระยะยาว สามารถทำให้ระบบนิเวศเกษตรชุมชนดีขึ้น ลดปัญหาภาวะโลกร้อน
ปัจจัยที่สำคัญในการประกอบการตัดสินใจการทำไร่นาสวนผสม
1.ที่ดิน  2.แรงงาน  3.ทุน  4.การจัดการ
สิ่งจำเป็นที่ควรพิจารณาก่อนการทำไร่นาสวนผสม
ด้านพื้นที่
     1. แบ่งพื้นที่บางส่วนมาจัดทำไร่นาส่วนผสม ซึ่งระยะแรกรายได้เกิดจากกิจกรรมที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น เช่น ปลูกผัก ,ผักสวนครัว เป็นต้น
     2. สภาพพื้นที่ลุ่มหรือนาเดิม ถ้าจะปลูกไม้ผลควรยกร่องไม้ผลและมีคันดิน ล้อมรอบแปลงผัก
     3. พื้นที่ลุ่มมากน้ำท่วมเป็นประจำ เกษตรกรอาจจะขุดบ่อเลี้ยงปลา หรือนาบัว นาผักบุ้ง นาผักกระเฉด เป็นต้น
     4. พื้นที่ดินในการทำสวนผลไม้ควรมีสภาพพื้นที่มีความลาดชันไม่เกิน 30 % สภาพดินมีหน้าดินลึกกว่า 1 เมตร และดินชั้นล่างต้องไม่เป็นดินดานแข็ง หรือศิลาแลง
     5. กรณีที่สภาพดินมีปัญหา เช่น ดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินพรุ หรือดินที่มีปัญหาอื่นๆ ควรมีการปรับปรุงก่อนการปลูกพืช
ด้านแหล่งน้ำ
     1. ควรมีสระน้ำ คูคลอง ร่องน้ำ หรือแหล่งน้ำระดับไร่นาเสริมในฤดูแล้ง ประมาณ 30 % ของพื้นที่
     2. บ่อน้ำบาดาล เพื่อใช้ในฤดูแล้ง โดยเฉพาะพืชไร่ พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ
     3. บ่อปลาเป็นแหล่งอาหารโปรตีนและเพิ่มรายได้ในฤดูแล้ง อาศัยน้ำในบ่อใช้ในการปลูกพืชบริเวณขอบบ่อปลา และพืชผักสวนครัว
ด้านเงินทุน
     1. เงินลงทุนในระยะแรกจะค่อนข้างสูง ควรพิจารณากิจกรรมเสริมให้ผลตอบแทนเร็วในช่วงแรกๆ
     2. เงินทุนที่มีอยู่ควรพิจารณาให้สอดคล้องกับชนิดและกิจกรรมการผลิต
     3. กรณีที่เกษตรกรกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ควรวางแผนการใช้จ่ายเงิน และผลตอบแทนในลักษณะกระแสเงินสดของฟาร์ม
ด้านเกษตรกร
     1. ต้องมีความขยันขันแข็ง กระตือรือร้น มีความคิดสร้างสรรค์ ยอมรับในการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ มีความคิดเชิงธุรกิจ
     2. แรงงานทำการเกษตรอย่างน้อย 3 คน ต่อพื้นที่ 10 ไร่
     3. มีทักษะในการวางแผนและงบประมาณ แรงงานในการผลิตอย่างเหมาะสม
ด้านกิจกรรมการผลิต
     1.ควรพิจารณากิจกรรมการเกษตร
        -  กิจกรรมที่ทำรายได้ เป็นรายวัน รายเดือน รายปี อย่างถาวรต่อเนื่อง(ด้านเศรษฐกิจ)
        -  กิจกรรมด้านอาหาร
        -  กิจกรรมด้านการใช้สอย
        -  กิจกรรมด้านอื่นๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละฟาร์ม แต่ละพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างกันไป
      2.กรณีมีการปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นในช่วงระยะ 1-3 ปี แรก ควรจะมีการปลูกพืชอายุสั้นแซมเสริมรายได้
      3.บริเวณคันดินล้อมแปลงไม้ผลไม้ยืนต้น สามารถจะปลูกมะพร้าวอ่อน กล้วย มะละกอ พืชผัก และอื่นๆได้
      4.การปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นบางครั้ง สามารถปลูกแบบผสมผสานกัน ลดภาวะการเสี่ยง
      5.เกษตรกรควรมีพื้นที่ส่วนหนึ่งปรับเปลี่ยนปลูกพืชหมุนเวียนอายุสั้น ที่ให้ผลตอบแทนสูง
      6.มีกิจกรรมการปลูกข้าวไว้บริโภคภายในครัวเรือนและจำหน่ายได้
      7.บ่อปลาควรอยู่ใกล้บ้าน การคมนาคมสะดวก จัดการควบคุมเรื่องระบบน้ำได้
      8.กิจกรรมการผลิตพืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ เลี้ยงสัตว์ ประมง ควรมีการวางแผนการผลิตและการตลาดเป็นอย่างดี
ด้านกิจกรรมรายได้
     1.พิจารณากิจกรรมเพื่อก่อให้เกิดรายได้ รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายปี อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
     2.พิจารณากิจกรรมที่ทำแบ่งเป็นรายได้หลัก รายได้รอง และรายได้เสริม
     3.กิจกรรมให้ผลระยะยาว และกิจกรรมเสริมในระยะแรก
     4.กิจกรรมปลูกพืชหมุนเวียนหรือเลี้ยงสัตว์เป็นรุ่นๆ อย่างชัดเจน
     5.พิจารณาความเสี่ยงของกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้
     6.กิจกรรมที่ให้ผลตอบแทนเร็วในช่วงระยะสั้นๆ รายได้สูงมั่นคงระยะยาว
ด้านกิจกรรมอื่นๆ
     1.ร่องน้ำแปลงไม้ผล สามารถเลี้ยงปลาได้
     2.ผสมผสานการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และประมง
     3.การเลี้ยงสัตว์ในไร่นาสวนผสม
     4.น้ำจากบ่อเลี้ยงปลานำไปใช้ในการปลูกพืชผัก ขอบบ่อเศษวัสดุการเกษตรยังเป็นอาหารเสริมของปลาได้
















ข้อมูลจาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น